ในเดือนตุลาคม ปีพ.ศ. 2562 พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น และพลเรือเอก Admiral Nikolai Anatolyevich Yevmenov ผู้บัญชาการทหารเรือสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกระทรวงกลาโหมทั้งสองประเทศ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ โดยเป็นการขยายความร่วมมือตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย ว่าด้วยความร่วมมือทางการทหารและการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงทางทหารระหว่าง 2 รัฐบาล ซึ่งจะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือ ที่จะร่วมพัฒนาในด้านการฝึกทางทะเล การยกระดับการศึกษา การเยี่ยมเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชา และหน่วยกำลังทางเรือ ตลอดจนร่วมกันสร้างพันธมิตรความมั่นคงทางทะเล ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศต่อไป
นอกจากนี้ การเดินทางเยือนไทยของผู้บัญชาการทหารเรือสหพันธรัฐรัสเซียนั้น ยังได้เสนอขายเรือฟริเกตแบบ Project 11356P/M หรือเรือฟริเกตชั้น Admiral Grigorovich ของกองทัพเรือรัสเซียนั่นเอง พร้อมทั้งจะสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการต่อเรือร่วมกัน โดยเบื้องต้นจะออกแบบเรือร่วมกันระหว่างกงอทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหพันธรัฐรัสเซีย
ข้อมูลทั่วไป
- ประเภทเรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถี
- มูลค่าเรือราว ๆ 7,700 ล้านบาท (249 Million USD)
- มิติของเรือ 124.80 x 15.20 x 4.20 เมตร
- ระวางขับน้ำปกติ 3,620 ตัน เต็มที่ 4,000 ตัน
- เครื่องยนต์ Combined gas turbine and gas turbine (COGAG) จำนวน 4 เครื่อง ประกอบไปด้วย 2 x DS-71 cruise gas turbines แต่ละเครื่องให้กำลัง 8,450 shp (6,300 kW) และ 2 x DT-59 boost gas turbines แต่ละเครื่องให้กำลัง 22,000 shp (16,000 kW) รวมกำลังทั้งหมด 60,900 shp หรือ 45,400 kW
- ความเร็วสูงสุด 30 นอต หรือ 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- พิสัยทำการไกลสุด 8,980 กิโลเมตร ที่ความเร็ว 14 นอต
- ปฏิบัติการได้นาน 30 วัน โดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง
- ลูกเรือ 200 นาย
เซนเซอร์และระบบประมวลผล
- เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศแบบ Fregat M2M เป็นเรดาร์ 2 ช่วงสัญญาณ E-Band ที่มีระยะการใช้งานสูงสุด 300 กิโลเมตร และระยะตรวจจับแนวตั้งสูงสุด 30 กิโลเมตร สามารถตรวจจับเครื่องบินรบได้ในระยะสูงสุด 230 กิโลเมตร และขีปนาวุธในระยะสูงสุด 50 กิโลเมตร
- เรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำแบบ 3Ts-25e Garpun-B (Plank Shave) ระยะการตรวจจับสูงสุดในโหมดแอคทีฟ 250 กิโลเมตร และระยะการตรวจจับสูงสุดในโหมดพาสซีฟ 500 กิโลเมตร, MR-212/201-1 (Palm Frond) เป็นเรดาร์ X-Band ระยะการตรวจจับสูงสุด 46 กิโลเมตร และ Nucleus-2 6000A ระยะการตรวจจับสูงสุด 46.3 กิโลเมตร
- เรดาร์ควบคุมการยิง JSC 5P-10 Puma FCS, 3R14N-11356 FCS และ MR-90 Orekh SAM FCS
- โซนาร์แบบ MGK-335EM-03 with Vinyetka-EM towed array
- ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ TK-25-5
- 4 x เป้าลวงแบบ KT-216
ระบบอาวุธ
- 1 x ปืนใหญ่เรือขนาด 100 มม. แบบ A-190 Arsenal
- ท่อยิงแนวดิ่งแบบ UKSK (3S-14E) 1 แท่น 8 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือ/ โจมตีภาคพื้นแบบ 3M-54 Kalibr พิสัยการยิง 220-2,500 กิโลเมตร, P-800 Oniks พิสัยการยิง 120-800 กิโลเมตร และ 3M22 Zircon พิสัยการยิง 1,000-2,000 กิโลเมตร
- 8 x จรวดต่อต้านเรือแบบ BrahMos (สำหรับกองทัพเรืออินเดีย) พิสัยการยิง 290-800 กิโลเมตร
- ท่อยิงแนวดิ่งแบบ 3S90M SA 2 แท่น 24 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ 9M317M พิสัยยิง 50 กิโลเมตร
- 2 × ระบบป้องกันระยะประชิด (CIWS) แบบ AK-630
- 8 × อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานพิสัยใกล้แบบ Igla-S หรือ Verba
- 4 x (2x2) ท่อยิงตอร์ปิโดหนักขนาด 533 มม.
- 1 × จรวดต่อต้านเรือดำน้ำแบบ RBU-6000
- 1 x เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำแบบ Kamov Ka-27
อาวุธที่ต้องการจัดหา และภาระทางงบประมาณของกองทัพเรือไทยในขณะนี้
- เรือดำน้ำแบบ S26T จำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท (ครม.อนุมัติงบราวๆ 13,500 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อ S26T ลำแรกไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2560 แต่ยังผูกพันงบประมาณไปจนถึงปี 2566-2567) และยังต้องการอีก 2 ลำ งบราวๆ 22,500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการได้ถูกขยายระยะเวลาออกไป และยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดหาลำที่ 2-3
- ชะลอเรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถีชั้นเรือหลวงภูมิพล อีก 1 ลำที่จะต่อเอง งบประมาณราวๆ 15,000 ล้านบาท ซึ่งในงาน Defense & Security 2015 จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2558 ที่ประเทศไทยนั้น บริษัท DSME ได้หารือร่วมกับกองทัพเรือไทยในการจัดหาเรือฟรีเกตลำที่ 2 โดยหวังว่าจะมีการทำสัญญาจัดหาเรือฟรีเกต DW3000 ลำที่ 2 กับกองทัพเรือไทยในปี พ.ศ. 2559 จากที่กองทัพเรือไทยได้เคยจัดหาเรือ DW3000 ลำแรกไปแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2556 และรับมอบเมื่อปีพ.ศ. 2562โดยอยู่ระหว่างรอให้ทางรัฐบาลไทยอนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดหาเรือฟรีเกตลำที่ 2 แต่ปี 2559 กองทัพเรือไทยก็ยังไม่ได้ทำสัญญากับ DSME และในปี 2562 กองทัพเรือก็ได้ชะลอทั้งเรือฟริเกตลำที่ 2 ที่จะต่อเอง รวมถึงชะลอการจัดหาเครื่องบินลาดตระเวน/ปราบเรือดำน้ำ เพื่อทดแทน P-3 ที่ปลดประจำการไปแล้วด้วย
- จัดซื้อเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่แบบ Type 071E มูลค่าเกือบ 7,000 ล้านบาท ซึ่งได้อนุมัติจัดหาไปในเดือนกันยายน ปี 2562 แต่ยังผูกพันงบประมาณอีกหลายปี โดยกองทัพเรือไทยจะให้เรือ Type 071E เป็นเรือพี่เลี้ยงสำหรับเรือดำน้ำลำใหม่ ที่จะเข้าประจำการในปี 2566-2567
-ในปี 2565 กองทัพเรือต้องการจะต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธปล่อยนำวิถีเองลำที่ 3 งบประมาณราวๆ 6,500 ล้านบาท ซึ่งใช้งบมากกว่าเดิมจากเรือหลวงกระบี่ ลำที่ 1 ที่ต่อเอง ใช้งบราวๆ 2,931 ล้านบาท และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ลำที่ 2 ที่ต่อเอง ใช้งบราวๆ 5,482 ล้านบาท โดยสาเหตุที่งบเพิ่มขึ้น เพราะมีการปรับดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ ให้รองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11.5 ตันได้ รวมถึงมีการติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Mk.141 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือแบบ RGM-84L Harpoon Block II โดยเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่กองทัพเรือต่อเองนั้น ได้ซื้อแบบเรือชั้น River Class Batch 2 จากบริษัท BAE Systems Maritime - Naval Ships
หากดูโครงการขนาดใหญ่ของกองทัพเรือแล้ว ทั้งเรือดำน้ำ 3 ลำ (26,900 ล้านบาท ตัดที่ชำระในปี 2561-2564 ไปแล้ว 9,100 ล้านบาท), เรือฟริเกตลำที่ 2 ที่จะต่อเอง งบ 15,000 ล้านบาท, เรือ OPV ลำที่ 3 ที่จะต่อเอง งบ 6,500 ล้านบาท, เรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ งบ 6,100 ล้านบาท และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลและปราบเรือดำน้ำลำ จำนวน 3 ลำ งบประมาณราว ๆ 6,485 ล้านบาท ยังไม่นับรวมโครงการอื่น ๆ เช่น โครงการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ, โครงการจัดหาระบบป้องกันชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้กองทัพเรือมีภาระทางงบประมาณไปจนถึงปี 2570 นี้อีกราวๆ 60,985 ล้านบาท - 70,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นโอกาสที่เรือฟริเกตแบบ Admiral Grigorovich จะเกิดขึ้นในกองทัพเรือไทยนั้นยากพอสมควร เนื่องจากภาระงบประมาณของกองทัพเรืออีกหลายหมื่นล้าน เว้นเสียแต่ว่ากองทัพเรือจะตัดหรือเลื่อนโครงการ DW3000 ออกไป และมาจัดหาเรือที่ถูกกว่าแทน แต่โดยส่วนตัวผมชอบเรือลำนี้ เนื่องจากมีอาวุธหนักมากมายทั้งตอร์ปิโดหนัก 533 มม. ซึ่งปกติเราจะเห็นบนเรือฟริเกต เรือพิฆาตจะมีตอร์ปิโดเบาขนาดประมาณ 324 มม. เท่านั้น แล้ว Heavyweight Torpedo จะไปอยู่ในเรือดำน้ำแทน รวมถึงชอบอวป.บนเรืออย่าง 3M-54 Kalibr พิสัยการยิง 220-2,500 กิโลเมตร, P-800 Oniks พิสัยการยิง 120-800 กิโลเมตร และ 3M22 Zircon พิสัยยิง 1,000-2,000 กิโลเมตร (ระยะยิงขึ้นอยู่กับว่ารัสเซียจะส่งออกรุ่นไหนมาให้ใช้) แต่อวป. 3 รุ่นที่กล่าวมานี้ เป็นทั้งจรวดร่อน จรวดโจมตีภาคพื้น และจรวดต่อต้านเรือ ขนาดหนัก ที่มีพิสัยยิงไกล และมีความเร็วหลายมัคอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น