จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

10 อันดับโครงการจัดซื้ออาวุธที่แพงที่สุดของกองทัพไทย (Top 10 Most Expensive Weapons Purchasing Programs of The Royal Thai Armed Forces)



สวัสดีครับ เคยสงสัยกันไหมครับ ว่าทั้ง 3 เหล่าทัพซื้ออาวุธกันมากมาย แล้วอาวุธชนิดไหนละ ที่แพงที่สุดของกองทัพไทย โพสต์นี้มีคำตอบครับ สำหรับใครที่ไม่อยากอ่าน สามารถเข้าไปฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=SykB0OmpWLU นะครับ


►อันดับ 10 โครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง 8x8 แบบ BTR-3 จำนวน 238 คัน วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท (286 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
โดยกองทัพบกไทยมี BTR-3 แบบต่าง ๆ รวม 238 คัน แบ่งเป็น การจัดซื้อล็อตแรกในปีพ.ศ. 2550 จำนวน 96 คัน ล็อตที่ 2 ในปีพ.ศ. 2554 จำนวน 121 คัน และล็อตที่ 3 ในปี 2556 อีกจำนวน 21 คัน ประกอบด้วย
- 200 x รถเกราะลำเลียงพลแบบ BTR-3E1 ติดตั้งแท่นยิง BM-3 SHTURM สำหรับปืนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก, ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตโนมัติร่วมแกนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก และท่อยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถังแบบ BARRIER จำนวน 2 ท่อ
- 9 x รถเกราะติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มิลลิเมตร แบบ BTR-3M1 ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มิลลิเมตร และปืนกลต่อต้านอากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร อย่างละ 1 กระบอก
- 4 x รถเกราะบังคับการแบบ BTR-3K ติดตั้งปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก
- 3 x รถเกราะพยาบาลแบบ BTR-3S ติดตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก
- 4 x รถเกราะติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มิลลิเมตรแบบ BTR-3M2 ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มิลลิเมตร และปืนกลต่อต้านอากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร อย่างละ 1 กระบอก
- 12 x รถเกราะติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ BTR-3RK ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ SKIF จำนวน 1 แท่น และปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 12.7 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก
- 6 x รถเกราะกู้ซ่อม BTR-3BR

►อันดับ 9 โครงการจัดซื้อเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130H จำนวน 12 ลำ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท (500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กองทัพอากาศจัดหาเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130H จำนวนทั้งหมด 12 ลำ โดยเครื่องชุดแรกเข้าประจำการในปีพ.ศ. 2523 และชุดสุดท้ายปีพ.ศ. 2535 คาดว่ามูลค่าของโครงการน่าจะอยู่ที่ราว ๆ 10,000 ล้านบาท

►อันดับ 8 โครงการจัดซื้อเครื่องบินฝึกหัดขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH จำนวน 14 ลำ วงเงิน 14,949 ล้านบาท (476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กองทัพอากาศไทย ได้สั่งจัดหาเครื่องบินฝึกหัดขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH จากบริษัท Korea Aerospace Industries (KAI) ประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 4 ลำในปี 2558 วงเงิน 3,700 ล้านบาท ได้รับมอบครบแล้วทั้ง 4 ลำในไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2561 และสั่งเพิ่มอีก 8 ลำในปี 2560 วงเงิน 8,800 ล้านบาท รวม 2 ล็อต 12 ลำ วงเงินรวม 12,500 ล้านบาท แผนเดิมกองทัพอากาศไทยยังต้องการจัดหาเครื่องบินฝึกหัดขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH เพิ่มเติมอีกจำนวน 2-4 ลำ เพื่อให้ครบ 14-16 ลำ แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตจากไวรัส Corona เสียก่อน ทำให้กองทัพอากาศต้องยกเลิกการจัดหาเครื่องบินฝึกหัดขับไล่ขั้นต้นแบบ T-50TH จำนวน 2 ลำ มูลค่า 2,449 ล้านบาท ในปี 2563 และจะเลื่อนโครงการจัดหาไปในปี 2564 - 2565

►อันดับ 7 โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ค้นหา กู้ภัย และช่วยชีวิตแบบ EC-725 (Airbus H225M) จำนวน 16 ลำ วงเงิน 17,000 ล้านบาท (541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยชีวิตแบบ EC-725 (Airbus H225M) ของกองทัพอากาศไทย โดยกองทัพอากาศไทยได้ดำเนินการจัดซื้อในล็อตแรก จำนวน 4 เครื่อง ที่ลงนามจัดหาในปี พ.ศ.2555 ได้รับมอบแล้วในปี พ.ศ.2558 ล็อตที่ 2 ลงนามจัดหาในปี พ.ศ.2557 จำนวน 2 เครื่อง ได้รับมอบแล้วในปี พ.ศ.2559 ล็อตที่ 3 ลงนามจัดหาในปี พ.ศ.2559 จำนวน 2 เครื่อง จะมีกำหนดส่งมอบในปี พ.ศ.2562 รวมการสั่งจัดหาทั้งหมด 8 เครื่อง ใช้งบประมาณราว ๆ 8.5 พันล้านบาท (255 ล้าน USD) ซึ่งกองทัพอากาศไทยมีแผนที่จะจัดหา เฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยชีวิตแบบ EC-725 จำนวนทั้งสิ้น 16 ลำ เพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ที่ปลดประจำการเนื่องจากใช้งานมานานถึง 40-50 ปีแล้ว
ภารกิจหลัก
-การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ
-การช่วยเหลือและกู้ภัย
ภารกิจรอง
-การลำเลียงทางอากาศ
การวางแผนวางกำลัง EC-725
EC-725 วางแผนกระจายกำลังพร้อมให้การภารกิจการค้นหาช่วยชีวิต ได้แก่
- กองบิน 1 (มีประจำการแล้ว)
- กองบิน 2 (มีประจำการแล้ว)
- กองบิน 6 (วางแผนในอนาคต)
- กองบิน 7 (มีประจำการแล้ว)
- กองบิน 21 (วางแผนในอนาคต)
- กองบิน 23 (วางแผนในอนาคต)
- กองบิน 41 (วางแผนในอนาคต)

►อันดับ 6 โครงการจัดซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot-M และ VT-4 (MBT3000) รวม 102 - 112 คัน วงเงิน 18,576 ล้านบาท (591 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
โครงการจัดซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot-M และ VT-4 (MBT3000) เป็นโครงการที่เริ่มในปีพ.ศ. 2554 โดยกองทัพบกไทยต้องการจัดหารถถังหลักรุ่นใหม่ จำนวน 200 คัน เพื่อทดเแทน M41 Walker Bullldog ที่ใช้มานานตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม โดยกองทัพบกไทยเซ็นสัญญามูลค่า 7,200 ล้านบาท (226 Million USD) ในปี 2554 เพื่อซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot-M จำนวน 49 คัน จากประเทศยูเครน และในปี 2559 กองทัพบกไทยได้จัดหารถถังหลักเพิ่มเติมแบบ VT-4 จากบริษัท Norinco ประเทศจีน โดยตามสัญญาที่อนุมัติไว้ทั้งหมดใน 3 ล็อต (ล็อตแรก 28 คัน วงเงิน 4,984 ล้านบาท ล็อตที่สอง 11 คัน วงเงิน 2,000 ล้านบาท และล็อตที่สาม 14 คัน วงเงิน 2,392 ล้านบาท รวมจำนวน 53 คัน วงเงินรวม 9,376 ล้านบาท โดยเมื่อรวมการจัดหาของรถถังหลักทั้งสองแบบแล้วรวมจำนวนคือ 102 คัน มูลค่าทั้งหมด 16,576 ล้านบาท (527 Million USD) แต่กองทัพบกยังมีสัญญาการจัดหารถถังหลักแบบ VT-4 ล็อตที่ 4 อีกจำนวน 10 คัน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามจัดหาในปี 2564 หรืออาจจะเป็นปี 2565

►อันดับ 5 โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ภายใต้รหัสโครงการ PEACE NARESUAN I – IV จำนวน 52 ลำ วงเงิน 17,060 – 24,333 ล้านบาท (682 - 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เป็นโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศไทย ในปีพ.ศ. 2528 – 2546 โดยจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 จำนวน 52 ลำ ภายใต้รหัสโครงการ PEACE NARESUAN หรือ “เนศวรสันติ” โดยแบ่งเป็นดังนี้

โครงการ Peace Naresuan I (นเรศวรสันติ 1) ลงนามจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 A/B จำนวน 12 เครื่อง วงเงิน 7,947 ล้านบาท
โครงการ Peace Naresuan II (นเรศวรสันติ 2) ลงนามจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 A/B จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 2,475 ล้านบาท
โครงการ Peace Naresuan III (นเรศวรสันติ 3) ลงนามจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 A/B จำนวน 18 เครื่อง วงเงิน 3,319 – 10,592 ล้านบาท
โครงการ Peace Naresuan IV (นเรศวรสันติ 4) ลงนามจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 A/B ADF จำนวน 16 เครื่อง วงเงิน 3,319 ล้านบาท

►อันดับ 4 โครงการปรับปรุงช่วงครึ่งชีวิตของ F-16 A/B Block 15 OCU ฝูงบิน 403 ให้เป็นมาตรฐาน F-16AM/BM eMLU (enhance Mid-Life Upgrade) จำนวน 18 ลำ วงเงิน 22,300 ล้านบาท (710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เป็นโครงการอัพเกรด F-16 A/B Block 15 OCU ของฝูงบิน 403 กองทัพอากาศไทย ให้เป็นมาตรฐาน F-16AM/BM eMLU ใช้งบประมาณรวม 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว ๆ 22,300 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2554-2556
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2556-2558
ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2558-2560
ระยะละ 6 เครื่อง โดย F-16 เครื่องแรกเข้ารับการปรับปรุงในปี 2555 โดยการปรับปรุงจะทำการทดแทนอุปกรณ์เก่าด้วยอุปกรณ์ใหม่ที่ทันสมัย และจัดหาระบบอาวุธ คือ
-การติดตั้งเรดาร์รุ่น AN/APG-68(V)9 ของบริษัท Northrop Grumman ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สามารถตรวจจับข้าศึกได้ไกลกว่าเดิมถึง 2 เท่า (296.32 กิโลเมตร) และมีระบบสร้างภาพภาคพื้นดินความละเอียดสูง (Synthetic Aperture Radar: SAR) สามารถ Scan เป้าหมายภาคพื้นด้วยความละเอียดสูงกว่าเดิมมาก ช่วยให้นักบินสามารถระบุและยืนยันเป้าหมายได้จากระยะไกล
-ระบบระบบพิสูจน์ฝ่าย AN/APX-113 Combined Interrogator and Transponder ของบริษัท BAE Systems ซึ่งระบบพิสูจน์ฝ่ายแบบใหม่ Advanced Identification Friend or Foe: AIFF จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการบินจากการระบุฝ่ายของอากาศยาน และเป็นการป้องกันการยิงอากาศยานฝ่ายเดียวกัน
-ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ AN/ALQ-213 Electronic Warfare Management System ของบริษัท Terma มีระบบการจัดการสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบบูรณาการ สามารถปล่อยเป้าลวงจรวดนำวิถีด้วยความร้อนและรบกวนการตรวจจับด้วยเรดาร์ ของข้าศึกแบบอัตโนมัติได้ จึงเป็นการลดภารกรรมของนักบินในขณะเข้าไปทำลายเป้าหมายและเพิ่มโอกาสความอยู่รอดในพื้นที่การรบอีกด้วย
-ระบบเป้าลวงแบบ AN/ALE-47 Airborne Countermeasures Dispenser System ของบริษัท BAE Systems
-การออกแบบและเปลี่ยนระบบแสดงผลของห้องนักบิน
-เปลี่ยนคันบังคับนักบิน
-ติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธีแบบ Link 16 ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบ Air Command and Control System หรือ ACCS ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งระบบ Tactical Data Link แบบ Link-16 จะแบ่งบันข้อมูลของอากาศยานฝ่ายเดียวกันของทุกหมู่บิน ตลอดจนหน่วยรบทุกเหล่าทัพที่ติดตั้งอุปกรณ์นี้ อันจะทำให้ทุกคนมีความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ขณะทำการรบสูงสุด และทำให้การฝึกรบร่วมกับนานาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
-หมวกบินติดศูนย์เล็งแบบ Joint Helmet-Mounted Cueing System (JHMCS) ของบริษัท Boeing เพื่อแสดงข้อมูลการบินและการใช้อาวุธ
-กระเปาะชี้เป้าแบบ Sniper ATP ของบริษัท Lockheed Martin
-จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยกลางแบบ AIM-120C-5 AMRAAM
-จรวดอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้อินฟราเรดแบบ IRIS-T
-ระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์และดาวเทียม

►อันดับ 3 โครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงแบบ DW3000F (เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช) จำนวน 2 ลำ วงเงิน 30,000 ล้านบาท (1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เป็นโครงการจัดหาเรือฟริเกตแบบใหม่ของกองทัพเรือไทย หลังจากที่ในปีพ.ศ. 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ตัดสินยุติโครงการและไม่นำโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองรุ่น U-206 A จากกองทัพเรือเยอรมนี จำนวน 6 ลำ วงเงิน 7,600 พันล้านบาท เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี และในปีเดียวกันนั้น ครม. ได้อนุมัติโครงการ “เรือฟริเกต” ที่มีขนาด 2,000-3,500 ตัน จำนวน 2 ลำ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดยได้ลงนามจัดซื้อเรือฟริเกต จำนวน 1 ลำ จากบริษัท Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering Co. , Ltd ประเทศเกาหลีใต้ วงเงินราว ๆ 14,997 ล้านบาท ซึ่งคือเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชในปัจจุบัน เป็นเรือฟริเกตที่มีจุดประสงค์ในการทำสงครามปราบเรือดำน้ำ หลังจากกองทัพเรือไม่ได้เรือดำน้ำเข้าประจำการ โดยในปัจจุบันเรือลำแรกได้สร้างเสร็จ และส่งมอบเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยแล้วตั้งแต่ปี 2562 จนถึงในขณะนี้ปี 2564 แล้ว โครงการสร้างเรือลำที่ 2 ที่จะต่อเองในประเทศโดยกองทัพเรือไทย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก DSME ก็ได้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากต้องนำงบประมาณไปซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 และเรืออู่ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่แบบ Type 071E ที่มีระวางขับน้ำราว ๆ 20,000 ตัน และกองทัพเรือจะใช้เรือลำนี้เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำอีกด้วย

►อันดับ 2 โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Jas 39 Gripen C/D จำนวน 12 ลำ พร้อมออฟชั่นอื่น ๆ วงเงิน 34,400 ล้านบาท (1,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบใหม่ของกองทัพอากาศไทย ในปีพ.ศ. 2550 โดยวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์แบบ Jas 39 Gripen จากบริษัท Saab ประเทศสวีเดน เพื่อทดแทนเครื่องบินแบบ F-5 E ของกองทัพอากาศ โดยจัดซื้อจำนวน 1 ฝูง 12 ลำ วงเงิน 34,400 ล้านบาท โดยแบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจัดซื้อในปี 2551 จำนวน 6 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม วงเงิน 19,000 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 5 ปี ( 2551-2555 ) และในระยะที่ 2 จัดซื้อในปี 2553 จำนวน 6 เครื่อง พร้อมอะไหล่ การฝึกอบรม วงเงิน 15,400 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2553-2556) โดยในแพคเกจระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการกริเพน ได้แก่

• เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ กริเพน C/D จำนวน 12 ลำ
• ระบบเรดาร์แจ้งเตือนล่วงหน้าอิรี่อาย (AEW) จำนวน 2 ระบบ ซึ่งติดตั้งในเครื่องบินสำหรับบินในระดับภูมิภาค ซาบ 340
• ระบบบัญชาการและควบคุม ได้แก่ ระบบเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูล
• เครื่องบินซาบ 340 เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนส่งและการฝึกนักบินและช่างอากาศ
• ขีปนาวุธต่อต้านเรือ
• การถ่ายทอดเทคโนโลยี
• การฝึกอบรมนักบินและช่างอากาศ
• เครื่องฝึกจำลองการบิน
• อุปกรณ์สนับสนุนภารกิจ
• อุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน
• โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์สำหรับนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศสวีเดน
• โครงการความร่วมมือทวิภาคีที่ยั่งยืน

►อันดับ 1 โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จำนวน 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท (1,125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำแบบใหม่ของกองทัพเรือไทย ในปี 2560 ผูกพันงบประมาณราว ๆ 10 ปี หลังจากกองทัพเรือลงนามเซ็นสัญญากับบริษัทมิตซูบิชิ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2478 เพื่อสร้างเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ระวางขับน้ำเพียงลำละ 370 ตัน เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ได้รับพระราชทานชื่อว่าเรือหลวงมัจฉาณุ หมายเลข 1, เรือหลวงวิรุณ หมายเลข 2, เรือหลวงสินสมุทร หมายเลข 3 และเรือหลวงพลายชุมพล หมายเลข 4 แต่ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ถูกปลดระวางประจำการ รวมเวลาประจำการในกองทัพเรือประมาณ 12 ปี กว่า ๆ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 70 ปีแล้วที่กองทัพเรือไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการ

ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2560 กองทัพเรือไทยได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T ระยะที่ 1 จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยงบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาเรือดำน้ำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ครั้งนี้ จะแบ่งผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจะแบ่งจ่ายเงินเป็นงวดๆ ตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ โดยกองทัพเรือได้เจรจากับฝ่ายจีนเกี่ยวกับการชำระเงินในแต่ละปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ด้านงบประมาณของกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีงวดการชำระเงินทั้งหมด 17 งวด ชำระเงินในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 – 2566 จะชำระเงินเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท ส่วนการจัดหาระยะที่ 2 นั้น จะจัดหาจำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท โดยรายการนี้กำหนดว่าปี 63 จ่าย 3,375 ล้านบาท ปี 64 จ่าย 3,925 ล้านบาท ปี 65 จ่าย 2,640 ล้านบาท ปี 66 จ่าย 2,500 ล้านบาท ปี 67 จ่าย 3,060 ล้านบาท ปี 68 จ่าย 3,500 ล้านบาท ปี 69 จ่าย 3,500 ล้านบาท แต่แล้วในปี 2563 ก็เกิดโคโรนาไวรัส หรือ COVID-19 ระบาด ทำให้กองทัพเรือต้องเลื่อนการซื้อเรือดำน้ำไปอีก 1 ปี คือปี 2564 นี้ ซึ่งไม่รู้ว่าโครงการจะโดนเลื่อนไปในปี 2565 อีกหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น